ประเด็นร้อน
'คณิศ' แจง 3 ประเด็นปม 'อีอีซี'
โดย ACT โพสเมื่อ Nov 07,2017
- - สำนักข่าวมติชน - -
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงถึงประเด็นข่าวแถลงการณ์คัดค้านเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC WATCH) ร่วมกับแนวร่วมเครือข่ายประชาชนคนภาคตะวันออก ที่มีข้อเสนอ 3 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้หัวหน้า คสช.ยกเลิกประกาศคำสั่ง ม.44 ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอีอีซี ทั้ง 3 ฉบับ เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ได้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล 2.ขอให้ ครม. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. อีอีซี ทบทวนเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพราะแสดงถึงการไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และ 3.แนวนโยบายและแนวทางการพัฒนาอีอีซี มีหลายอย่างที่ไม่ได้เป็นไปตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มองได้ว่าอีอีซี คือการพัฒนาที่คนภาคตะวันออกจำนวนไม่น้อยไม่ได้เลือก
นายคณิศกล่าวว่า ประเด็นแรก อีอีซี เป็นนโยบายสำคัญของประเทศที่จะผลักดัน การพัฒนา และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน โดยรัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาอีอีซี ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ซึ่งต่อไปจะพัฒนาไปเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเป็น แกนนำในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
"การพัฒนาโครงการต่างๆ ในอีอีซี เป็นการต่อยอดจากการพัฒนาโครงการที่มีอยู่เดิม ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยคำนึงถึงการสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยถือว่าการพัฒนาอีอีซีเป็นกลไกขับเคลื่อน ประเทศไทย 4.0 แบบก้าวกระโดด และเป็นพื้นที่เป้าหมายแรกในการสร้าง การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างระบบการถ่ายโอนเทคโนโลยีขั้นสูงสู่คนไทย ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม" นายคณิศกล่าว
นายคณิศกล่าวว่า ประการที่ 2 คำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอีอีซี เพื่อต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเป็นแนวในการทำงานในเชิงบูรณาการให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และบรรลุซึ่งวิสัยทัศน์ของประเทศทั้งในด้านความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล หรือ ที่เรียกว่า "การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี"
"คำสั่ง คสช.ดังกล่าว จะเป็นอันยกเลิกไป ถ้า พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีผลบังคับใช้ ตัวอย่างเช่นคำสั่ง คสช. เรื่อง 'ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก' เป็นการทำให้แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินสอดคล้องกันสภาพข้อเท็จจริง เป็นการพัฒนาที่บูรณาการที่คำนึงถึงความต่อเนื่องเชื่อมโยงในทุกมิติของทั้ง 3 จังหวัด หรือเป็นการทำผังเมืองกลุ่มจังหวัดครั้งแรก ที่ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์กับชุมชน สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย โดยไม่ละเลยการสร้างความรับรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนในพื้นที่ และรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง ควบคู่กับการดำเนินงาน อีกทั้งจะนำไปเป็นมาตรฐานในการจัดทำผังเมืองในอนาคต" นายคณิศกล่าว
นายคณิศกล่าวว่า คำสั่ง คสช.เกี่ยวกับระเบียบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน (PPP) ในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งในการดำเนินงานเป็นเพียงการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้รวดเร็วขึ้น โดยไม่ได้ระเว้นการปฏิบัติหลักเกณฑ์ ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2556 โดยสามารถลดระยะเวลาจาก 40 เดือน เหลือเพียง 8-10 เดือน ซึ่งจะเป็นมาตรฐานในการนำไปปรับแก้ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯปี 2556 ต่อไป
นายคณิศกล่าวว่า ประการที่ 3 ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.... เข้าสู่กระบวนพิจารณาของคณะรัฐมนตรีถึง 3 ครั้ง แสดงถึงการให้ความสำคัญในทุกประเด็น ทุกมิติ อย่างรอบคอบ รัดกุม ของทุกภาคส่วน ถึงแม้ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษ ซึ่งกรรมการทุกท่านพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบทุกมิติ โดยมิได้มีการเร่งรัดหรือละเลยในทุกประเด็นที่หลายฝ่ายกังวล มีการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนตามช่องทางสื่อสารต่างๆ
นายคณิศกล่าวว่า ประการที่ 4 ในการพัฒนาอีอีซี เป้าหมายที่สำคัญคือ ประชาชนในพื้นที่มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการยกระดับรายได้ให้ใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ด้วยสภาพชีวิตที่ดีกว่า มีเมืองที่น่าอยู่ที่ดีกว่า อาทิ โอกาสมาถึงบ้าน-รายได้มาถึงตัว งานดีมีมากขึ้นเป็นโอกาสใหม่ให้เยาวชน ลูกหลานไม่ต้องออกนอกพื้นที่เพื่อหา สถานศึกษาที่ดีขึ้น หางานที่ดีขึ้น ทำให้สามารถอยู่ได้กับพ่อแม่เป็นครอบครัวอบอุ่น ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงสถาบันการศึกษา และโรงพยาบาลที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีระบบสาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อมที่ดี จากโครงการลงทุน และการท่องเที่ยวมีเส้นทางคมนาคมที่ดีขึ้น มีกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชน หากประชาชนได้รับผลกระทบรัฐจะให้การดูแลอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยมีการตั้งกองทุนขึ้นมาโดยเฉพาะ
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน